ต้นชัยพฤกษ์ ต้นไม้มงคล ต้นไม้แห่งชัยชนะ

ต้นชัยพฤกษ์

ต้นชัยพฤกษ์ ถือเป็นไม้มงคล ที่เป็นสัญลักษณ์แห่ง ชัยชนะ และอิสรภาพ ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ ในหลายๆ ที่ของไทย ช่อชัยพฤกษ์นั้น จะถูกนำไปประดับ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล เช่น นำไปประดับบนอินทรธนูข้าราชการ สำหรับทหาร และตำรวจทั้งหลาย

ข้อมูลทั่วไป ต้นชัยพฤกษ์

ชื่อ: ชัยพฤกษ์
ชื่อสามัญ: Javanese Cassia, Rainbow Shower, Pink and white shower, Common pink cassia
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia javanica L.
ชื่อท้องถิ่นอื่น: ขี้เหล็กยะวา, เหล็กยะวา เป็นต้น
วงศ์: FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE (วงศ์ถั่ว)
วงศ์ย่อย: CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE (ราชพฤกษ์)
ถิ่นกำเนิด: ในอินโดนีเซียและประเทศในแถบเอเชียตะวันออก
ดอกชัยพฤกษ์: เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ชัยนาท
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย: กรุงเทพ
ต้นไม้ประจำโรงเรียน: สวนกุหลาบวิทยาลัย (รังสิต), โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี

ที่มา: ชัยพฤกษ์ [1] 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นชัยพฤกษ์

ต้นชัยพฤกษ์

ต้นชัยพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดใหญ่มีความสูง 15 – 25 เมตร
ลักษณะ เป็นทรงพุ่ม รูปร่มแผ่กว้างสูง 6 – 8 เมตร เปลือกต้น สีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ ต้นเล็กจะมีหนาม ต้นใหญ่จะมีรอยแผลปนหนามตามแนวขวาง
ใบ เป็นใบประกอบ แบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับแกนกลาง ใบประกอบจะยาว 15 – 30 ซม. มีใบย่อยประมาณ 7 – 12 คู่ เรียงตรงข้ามกันเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปรี ซึ่งมีความกว้าง 1.5 – 2 ซม. และมีความยาว 3.5 – 5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบจะบาง แต่ค่อนข้างเหนียว ใบสีเขียวสด เกลี้ยง ผิวของใบด้านล่าง จะมีสีที่อ่อนกว่าด้านบน มีขนละเอียด โดยก้านใบนั้นมีความยาว 1.5 – 4 ซม. แต่ก้านใบย่อย จะสั้นมาก
ดอก ออกดอกสีชมพูเป็นช่อแบบ ช่อเชิงลด ในส่วนของก้านช่อดอกนั้น จะมีความใหญ่ และแข็ง ไม่แตกแขนง เมื่อออกดอกแล้วจะไม่ทิ้งใบ ดอกย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปดอกหางนกยูงจำนวนมาก เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีชมพู จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และเมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกดอกในฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม
ผล ออกผลเป็นฝัก จะเป็นผลแห้งทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีขน ซึ่งฝักเกลี้ยงของชัยพฤกษ์นั้น สามารถนำไปใช้ทำยาได้ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝักอ่อนจะมีสีน้ำตาล และเมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำ
เมล็ด นั้นจะมีลักษณะกลมแบนสีน้ำตาลเป็นมัน โดยมีเมล็ดจำนวน 40-50 เมล็ดต่อฝัก และจะติดผลประมาณเดือนเมษายน – กรกฎาคม
พบได้ตาม ป่าทุ่ง ป่าโปร่ง และปลูกเลี้ยงทั่วไป เป็นพืชที่ชอบดินทราย และแสงแดดจัด

ที่มา: ส่วนประกอบของต้นชัยพฤกษ์ [2] 

การขยายพันธุ์ และการปลูก

ขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด

  • นำฝักชัยพฤกษ์ไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นแกะเมล็ดออก แล้วใช้กรรไกรตัดเล็บ ขลิบเมล็ดด้านป้านออกเล็กน้อย
  • นำเมล็ดที่ได้ ไปแช่น้ำอุ่น ประมาณครึ่งชั่วโมง
  • เตรียมภาชนะที่มีฝาปิด และนำสำลีวางรองไว้ จากนั้นก็นำเมล็ดชัยพฤกษ์วางไว้ด้านบนสำลี แล้วนำสำลีมาวางทับอีกชั้นหนึ่ง
  • พรมน้ำให้สำลีมีความชื้น โดยให้ทำทุกวัน เพื่อไม่ให้มันแห้ง
  • รอประมาณ 5 – 6 วัน เมล็ดจะงอกรากออกมา ให้นำต้นกล้าไปปลูกในถุงดำ
  • นำดินผสมกับปุ๋ยหมัก แล้วปลูกต้นชัยพฤกษ์ลงถุงดำ ปลูกเสร็จแล้วให้รดน้ำ
  • เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ให้นำออกมาปลูกในพื้นที่ ที่ต้องการปลูก โดยให้ปลูกห่างจากตัวบ้าน หรือกำแพงประมาณ 4 เมตรขึ้นไป

ต้นไม้มงคลปลูกตามทิศ สื่อความหมายของต้นชัยพฤกษ์

ต้นชัยพฤกษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 9 ต้นไม้มงคลของไทย ด้วยชื่อที่เป็นมงคล สื่อความหมายถึง ชัยชนะ และการนำมาซึ่งเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ หากปลูกต้นชัยพฤกษ์ไว้ในบ้าน จะช่วยให้สามารถ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และเสริมบารมีให้แก่เจ้าของบ้านได้ และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติไทยอีกด้วย

ตำแหน่งที่เหมาะกับการปลูก ควรปลูกไว้ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของตัวบ้าน เช่นเดียวกันกับ ต้นราชพฤกษ์ และควรปลูกในวันเสาร์ เพื่อความเป็นสิริมงคล

สรรพคุณของชัยพฤกษ์

  • ฝัก มีรสหวานเอียน ใช้เป็นยาระบายพิษไข้, ใช้ถ่ายเสมหะ, เป็นยาแก้ตานขโมย, ใช้เป็นยาแก้อาการท้องผูก เป็นยาระบายที่ไม่ทำให้ปวดมวนในท้องจึงเหมาะใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ และในผู้ป่วยเรื้อรัง, ใช้เป็นยาแก้ปวดข้อ
  • เปลือกฝักและเมล็ด มีสรรพคุณทำให้อาเจียนและเป็นยาลดไข้
  • เนื้อในฝัก ใช้เป็นยาขับพยาธิ

หมายเหตุ สรรพคุณของยาไทยโบราณกล่าวว่า ส่วนอื่น ๆ เสมอด้วยสรรพคุณของต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน)

ประโยชน์ของ ต้นชัยพฤกษ์

  • ชัยพฤกษ์เป็นไม้มงคลที่สามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามได้
  • เป็นไม้มงคล ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ โดยเชื่อว่าถ้าหากปลูกต้นชัยพฤกษ์ไว้ในบ้าน จะทำให้เอาชนะอุปสรรค และสิ่งต่าง ๆ ได้
  • ชัยพฤกษ์เป็นหนึ่งใน 9 ไม้มงคลที่สามารถนำไปใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์และใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ด้วย
  • สำหรับชาวไทย ช่อชัยพฤกษ์ถือเป็น สิ่งประดับที่เป็นมงคลในหลายที่ เช่น บนอินทรธนูข้าราชการ ประดับประกอบดาวบนอินทรธนู และในหมวกของทหารและตำรวจทั้งหลาย
  • ใช้ประดิษฐ์เป็นพวงมาลัยสวมศีรษะ เพื่อเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่แก่กวีนักดนตรีในสมัยโบราณ

นอกจากความเชื่อแล้ว ยังช่วยฟอกอากาศในบริเวณที่ปลูก, ช่วยลดมลพิษทางอากาศ, ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ [3] 

สรุป ต้นชัยพฤกษ์ ควรปลูกไว้ในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ต้นชัยพฤกษ์

สรุป ต้นชัยพฤกษ์ ต้นไม้มงคลควรปลูกตามทิศ ที่คนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อว่า จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ก็คือทิศตะวันตกเฉียงใต้ และควรปลูกในวันเสาร์ จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ให้แก่เจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี โดยมีต้นกล้าจำหน่าย ราคาต่อต้นประมาณ 30 – 50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น และต้นชัยพฤกษ์ที่มีความสูงประมาณ 3 – 5 เมตร มีราคาประมาณ 1500-2000 บาท

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of OTP
OTP

แหล่งอ้างอิง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
157