ต้นประดู่ ต้นไม้มงคล ทางพระพุทธศาสนา เสริมสร้างบารมี

ต้นประดู่

ต้นประดู่ เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน หลายๆ คนคงเคยเห็น และรู้จักกันดี เพราะต้นไม้ชนิดนี้มักจะปลูกกันทั่วไป ในทุกพื้นที่ พบเห็นได้ตามสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ต้นไม้มงคลที่ควรรู้จัก

ข้อมูลทั่วไป ต้นประดู่

ชื่อ : ประดู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
ชื่อสามัญ : Burma Padauk
ชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ : Angsana Norra, Malay Padauk, Andaman Redwood, Burmese Rosewood, Indian rosewood
ชื่อไทยและท้องถิ่น : ประดู่, สะโน (มาเลย์-นราธิวาส), ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา (ภาคกลาง), ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) เป็นต้น
วงศ์ : Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ถิ่นกำเนิด : จากประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบอันดามัน เบงกอล
ต้นไม้มงคล : ประจำกองทัพไทย
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ชลบุรี, จังหวัดระยอง, จังหวัดอุตรดิตถ์
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ภูเก็ต

ที่มา : รู้จักกับต้นประดู่ [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นประดู่

ต้นประดู่

ลำต้น : ประดู่ เป็นไม้ยืนต้นสูงตั้งแต่ 10 – 25 เมตรโดยประมาณ เขาจะแตกกิ่งก้านสาขา ออกเป็นทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง ปลายกิ่งห้อยลง เปลือกต้นหนาและหยาบ แตกออกเป็นร่อง มีสีน้ำตาลอมเทา
ใบ : ต้นประดู่เป็นไม้ผลัดใบ ใบจะเป็นแบบใบประกอบขนนก ออกใบเป็นช่อ และในแต่ละช่อจะมีทั้งสิ้น 7 – 13 ใบ ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา มีสีเขียว
ดอก : ดอกประดู่มีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม และผลิบานในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม มักออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกย่อยจะมีลักษณะ คล้ายคลึงกับดอกถั่ว ลักษณะโคนกลีบเลี้ยง เป็นกรวยโค้ง มี 5 กลีบดอก ดอกที่ใกล้โรยราจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล ส่งกลิ่นหอมไกล
ผล : มีขนเล็กๆปกคลุม ขนาดผลโตประมาณ 4-6 เซนติเมตร

การขยายพันธุ์ และการปลูก ต้นประดู่

ขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด สามารถไปเก็บเมล็ดใต้ต้นแม่ ที่เติบโตอย่างแข็งแรง มาเพาะได้เลย แต่ข้อควรระวังในการเก็บเมล็ดใต้ต้นก็คือ ต้องเก็บจากต้นที่ออกผลอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และควรเลือกต้นพันธุ์ ที่ไร้โรค ต้นตรงสวย ทรงพุ่มสวย หลังจากนั้นก็นำมาเพาะ เหมือนเช่นเดียวกันกับ ไม้ยืนต้นอื่นๆ ได้เลย

การปลูก: เมื่อต้นกล้าเขาแข็งแรงแล้ว แนะนำให้ปลูกเขาไว้บนดินที่ร่วนซุย หรือจะเป็นดินทรายผสมดินร่วนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ดินเหนียว ควรปลูกไว้กลางแจ้ง เพราะต้นประดู่ต้องการ ได้รับแสงแดดจัด ตลอดทั้งวัน

รดน้ำปานกลาง ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปุ๋ยเน้นปุ๋ยคอกปีละ 2 – 3 ครั้ง เพียงเท่านี้ต้นประดู่ก็จะเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

ต้นประดู่ พันธุ์ไม้มงคล สื่อความหมาย

ประดู่ หมายถึง ความพร้อมเพรียง ความร่วมมือ และความสามัคคี หากใครปลูกแล้ว จะช่วยให้คนในบ้านรักใคร่กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็น “ต้นไม้มงคลปลูกตามทิศ” ตามความเชื่อจะยิ่งดีมากขึ้น [2]

ตำแหน่งที่เหมาะกับการปลูก : ทิศตะวันตก เช่นเดียวกันกับ ต้นมะขาม ที่ควรปลูกไว้ทิศเดียวกันนี้ โดยควรปลูกหน้าบ้าน เพื่อให้ร่มเงา และความร่มเย็น และให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น

สรรพคุณของประดู่

  • เปลือกต้น (มีรสฝาดจัด) มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย, ใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ปากแตก, ใช้เป็นยาแก้โรคบิด, เป็นยาสมานบาดแผล, ยาแก้อาการท้องเสีย
  • แก่นเนื้อไม้ประดู่ (มีรสขมฝาดร้อน) สรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต, บำรุงกำลัง, บำรุงธาตุในร่างกาย, ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้, แก้พิษไข้, แก้เสมหะ, ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้แก่นเนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา, เป็นยาแก้ผื่นคัน, ยาแก้โรคคุดทะราด ด้วยการนำแก่นไม้มาต้มกับน้ำกิน
  • ยาง ยางไม้ประดู่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Gum Kino” มีสรรพคุณเป็น ยาแก้อาการท้องเสีย, ยาแก้โรคปากเปื่อย
  • ใบอ่อน ใบอ่อนนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกแผล พอกฝี จะช่วยทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว, พอกแก้ผดผื่นคัน, ใบนำมาตากแห้ง ใช้ชงกับน้ำร้อน เป็นชาใบประดู่ นำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอ
  • ราก ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้
  • ผล (มีรสฝาดสมาน) สรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง, ยาแก้อาเจียน

ที่มา: สรรพคุณของประดู่ [3]

ประโยชน์ของ ต้นประดู่

  • ใบอ่อน และดอกประดู่ สามารถนำมาลวกรับประทานเป็นอาหารได้
  • ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย มีลวดลายสวยงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี นิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำฝาบ้าน พื้นบ้าน ทำเสา ทำคาน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง รวมทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือด้วย เพราะไม้ประดู่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็ม ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ เครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด เป็นต้น
  • ปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า “ปุ่มประดู่” จึงทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูง และงดงาม แต่จะมีราคาแพงมากและหาได้ยาก นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน และเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างดีเยี่ยม
  • เปลือกให้น้ำฝาด สำหรับฟอกหนัง เปลือกและแก่นประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้ดี โดยเปลือกจะให้สีน้ำตาล ส่วนแก่นจะให้สีแดงคล้ำ
  • ใบมีรสฝาด สามารถนำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้
  • ปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะ เช่น ตามสวนหรือทางเดินเท้า ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและให้ความสวยงาม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอากาศเสีย ช่วยกรองฝุ่นละออง และกันลม กันเสียงได้ดีอีกด้วย
  • ใบที่หนาแน่น เมื่อร่วงหล่นก็จะเกิดการผุพัง กลายเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี

ในด้านเชิงอนุรักษ์ ต้นประดู่เป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลม และคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ และยังช่วยรองรับน้ำฝน ช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ประกอบกับมีระบบรากหยั่งลึก และแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย และรากที่มีปมขนาดใหญ่ ยังช่วยตรึงไนโตรเจน ในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจน ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย

ในด้านข้อความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้ เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน และผู้อยู่อาศัย

สรุป ต้นประดู่ ไม้มงคลปลูกตามทิศ มากสรรพคุณ

ต้นประดู่

สรุป ต้นประดู่ เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ต้นไม้มงคล ปลูกตามทิศยิ่งเพิ่มความเป็นสิริมงคล เป็นต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาได้ดี การปลูก การดูแลก็ง่ายมาก อีกทั้งยังช่วยในเรื่องความเชื่อด้านจิตใจ ตามคุณสมบัติของไม้มงคล ที่ควรมีปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อเสริมสร้างบารมี ความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียว และยังเป็นไม้มงคลในทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of OTP
OTP

แหล่งอ้างอิง

235