พญาสัตบรรณ ต้นไม้มงคล ส่งเสริมเกียรติยศชื่อเสียง

พญาสัตบรรณ

พญาสัตบรรณ หรือต้นตีนเป็ด ต้นไม้มงคล ตามความเชื่อนั้น เชื่อว่าปลูกไว้ในบ้าน จะช่วยส่งเสริมเกียรติยศชื่อเสียง นิยมปลูกกันในสถานที่ราชการ อาคาร หรือวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครในอดีต ที่นำต้นตีนเป็ดมาปลูกบริเวณริมถนนรวมกว่า 2,000 ต้น ที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบันนี้

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อ: พญาสัตบรรณ หรือ ตีนเป็ด
ชื่อวิทยาศาสตร์: Alstonia scholaris
ชื่อท้องถิ่นอื่น: หัสบัน, สัตบรรณ, สัตตบรรณ, จะบัน, บะซา, ปูลา, ปูแล, ตีนเป็ด, ตีนเป็ดขาว, ตีนเป็ดไทย, ต้นตีนเป็ด เป็นต้น
วงศ์: Apocynaceae (วงศ์ตีนเป็ด)
ถิ่นกำเนิด: ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไทยพบได้ทุกภาค
ต้นไม้มงคลประจำจังหวัด: สมุทรสาคร

ที่มา: พญาสัตบรรณ [1] 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นพญาสัตบรรณ

พญาสัตบรรณ

พญาสัตบรรณ เป็นไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 35 เมตร โคนต้นมักเป็นพูพอน

  • เปลือก ค่อนข้างหนา สีเทาอ่อน หรือเทาอมเหลือง
  • ใบ ใบเดี่ยวเรียงกันเป็นวง 4 – 7 ใบ แผ่นใบรูปมน แกมรูปไข่กลับ ปลายแหลมเป็นติ่งเล็กน้อย โคนสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ
  • ดอก ดอกเล็ก สีเขียวอมเหลือง หรืออมขาว ออกเป็นกลุ่มในช่อ ซึ่งแยกกิ่งก้าน ออกจากจุดเดียวกัน ตามปลายกิ่ง
  • ผล เป็นฝักเรียว ยาว 10 – 20 ซม. เมล็ดแบบทรงบรรทัดแคบๆ ยาว ประมาณ 7 มม. มีขนนุ่ม ยาวปุกปุยติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง
  • ออกดอก ตุลาคม – ธันวาคม เริ่มติดฝักประมาณเดือนมกราคม เมล็ดแก่ประมาณเดือน มีนาคม

การขยายพันธุ์ การปลูก และการดูแลรักษา

พญาสัตบรรณ

ขยายพันธุ์

  • โดยการเพาะเมล็ด และการปักชำ

การปลูก

  • นิยมปลูกในแปลงปลูก ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 ซม. เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ควรปลูกให้ห่างจากบ้าน เพราะเมื่อต้นไม้มีอายุมากขึ้นขนาดทรงพุ่ม จะสูงใหญ่
  • ดินปลูก ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน อัตรา 1 : 2

การดูแลรักษ

  • ต้นพญาสัตบรรณ ต้องการแสงแดดจัด รดน้ำ 5 วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย และควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 2 : 3 กก./ต้น ปีละ 3 – 4 ครั้งก็พอ โดยปกติแล้วจะมีความทนทานต่อสภาพธรรมชาติได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืช

ที่มา: พญาสัตบรรณ ไม้มงคลแก่บ้านและผู้อาศัย [2]

ต้นไม้มงคล พญาสัตบรรณ สื่อความหมาย

คนไทยโบราณเชื่อว่า การปลูกต้นพญาสัตบรรณ ไว้ที่บ้าน จะทำให้ได้รับการยกย่อง การนับถือจากบุคคลทั่วไป จะทำให้มีเกียรติยศ ซึ่งความหมายของคำว่าพญา คือ ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่อง และเคารพนับถือ ส่วนคำว่า สัต หมายถึง สิ่งที่ดีงาม ความมีคุณธรรมนั่นเอง

บริเวณที่ควรปลูก พญาสัตบรรณตามความเชื่อ จะนิยมปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ หน้าบ้าน ทางทิศเหนือ และ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์ แต่ถ้าอยากให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือหรือเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับ ต้นสัก เป็นต้น

สรรพคุณของ พญาสัตบรรณ

  • เปลือกต้น (มีรสขม) เป็นยาขมช่วยให้เจริญอาหาร, ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน, ใช้แก้หวัด, แก้อาการไอ, รักษาหลอดลมอักเสบ, รักษาโรคบิด, ท้องร่วง, ท้องเดินเรื้อรัง, โรคลำไส้ และลำไส้ติดเชื้อ, ต้มน้ำดื่มช่วยรักษาโรคมาลาเรีย, ใช้เป็นยาสมานลำไส้ได้, ขับพยาธิไส้เดือน, ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย, ช่วยขับระดูของสตรี, ช่วยขับน้ำนม, ใช้ต้มน้ำอาบ ช่วยรักษาผดผื่นคัน
  • ใบ ใช้ชงดื่ม ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน, โรคลักปิดลักเปิด, แก้ไข้, ช่วยรักษาโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง, พอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้, รักษาแผล แผลเปื่อย และอาการปวดข้อ
  • ยาง น้ำยางใช้หยอดหูแก้อาการปวดหูได้, ใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟัน, ช่วยบำรุงกระเพาะ, ใช้รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว
  • ดอก แก้ไข้เหนือ ไข้ตัวร้อน

ที่มา: สรรพคุณของพญาสัตบรรณ [3] 

ประโยชน์ของ พญาสัตบรรณ

  • สารสกัดจากใบพญาสัตบรรณสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของต้นคะน้า ส่วนสารสกัดจากเปลือกของลำต้นก็จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของข้าวโพด ข้าว ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวผิวมัน และคะน้าได้
  • เนื้อไม้หยาบ อ่อน แต่เหนียว สามารถใช้ทำหีบใส่ของ หีบศพ ทำโต๊ะ เก้าอี้ ฝักมีดของเล่นสำหรับเด็ก รองเท้าไม้ หรือไม้จิ้มฟันได้
  • ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา ภายในบ้านได้
  • สารสกัดจากน้ำมันหอมระเหย ของดอกพญาสัตบรรณ สามารถใช้ไล่ยุงได้
  • เนื้อไม้ ใช้ทำฟืน หรือนำใช้ทำโครงสร้างส่วนต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน เป็นต้น
  • ต้นพญาสัตบรรณจัดเป็นไม้มงคลนาม ปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคล

สรุป พญาสัตบรรณ ไม้มงคล มีข้อดีมากมาย แต่ก็มีข้อเสียนะ

พญาสัตบรรณ

สรุป แม้ว่าต้นพญาสัตบรรณจะมีประโยชน์ ในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้อย่างมาก แต่ก็มีผู้แพ้กลิ่นหลายคนที่เกิดอาการแพ้ ทุกช่วงฤดูหนาว กลิ่นของดอกพญาสัตบรรณ เกิดจากสารหอมระเหยในกลุ่มลินาโลออล (linalool) เป็นสารที่กระตุ้นให้ระบบประสาท สร้างความรู้สึกอยากอาเจียนได้

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of OTP
OTP

แหล่งอ้างอิง

226