เทพทาโร ไม้หายากยืนต้น พันธุ์พื้นเมืองเก่าแก่ของไทย

เทพทาโร

เทพทาโร (อ่านออกเสียงว่า เทบ-พะ-ทา-โร) เป็นต้นไม้หายาก พื้นเมืองเก่าแก่ของไทย มีต้นขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์ Lauraceae พบในเอเชียใต้ ถึงตะวันออก บนเขาในป่าดงดิบ และเป็นพันธุ์ไม้มงคล พระราชทาน ประจำจังหวัดพังงา

เทพทาโร ลักษณะทั่วไป

เทพทาโร เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่ม ใบมีสีเขียวเข้ม ลำต้นเรียบไม่มีพูพอน เปลือกต้นสีเทาอมเขียว หรืออมน้ำตาล ค่อนข้างเรียบ แตกเป็นร่องยาวตามลำต้น เมื่อถากเปลือกออก จะมีกลิ่นหอม จัดเป็น ต้นไม้หายาก ประเภทยืนต้น ขึ้นในป่าดงดิบ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Cinnarnomum Porrectum Kosterm
ชื่อสามัญ : จวง จวงหอม (ภาคใต้), จะไค้ต้น จะไค้หอม (ภาคเหนือ), ตะไคร้ต้น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), เทพทาโร (ภาคกลาง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี), พลูต้นขาว (เชียงใหม่), มือแดกะมางิง (มาเลเซีย ปัตตานี) [1]

ลักษณะเฉพาะของเทพทาโร

ใบ : ใบรูปรีแกมรูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาว ปลายใบแหลม โคนใบแหลมและกลม ยาวประมาณ 7 – 20 ซม. ก้านใบเรียวเล็ก 2.5 – 3.5 ซม.
ดอก : ดอกออกเป็นช่อ สีขาวหรือเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ออกดอกตามปลายกิ่งเป็นกระจุกยาว 2.5 – 7.5 ซม. ก้านช่อดอกจะเรียวยาวและเล็กมาก
ผล : ผลมีขนาดเล็กและกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 มม. ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีม่วงดำ ก้านผลเรียว ยาวประมาณ 3 – 5 ซม.
เนื้อไม้ : ลักษณะเนื้อไม้ มีสีเทาแกมน้ำตาล มีกลุ่มหอมฉุน มีริ้วสีเขียวแกมเหลือง เนื้อไม้เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง หรือสับสน เป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย เหนียว แข็งพอประมาณ

จุดเด่น ไม้เทพทาโร

เทพทาโร

จุดเด่นคือ ชาวใต้เชื่อว่า หากมีไว้ประจำบ้าน จะช่วยให้ร่มเย็น ถือเป็นไม้มงคล เนื้อไม้สวยงามเรียบเนียน เหมาะกับการแกะสลัก เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สดชื่น และกลิ่นของไม้นั้น ยังสามารถป้องกัน มอด ยุง ปลวกได้อีก และใช้เป็นยาสมุนไพร เปลือกเป็นยาบำรุงร่างกายอย่างดี โดยเฉพาะหญิงสาวรุ่น ต้มกินแก้เสียดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ [2]

คุณประโยชน์ มีมาตั้งแต่ สมัยไตรภูมิพระร่วง

ประโยชน์ของไม้เทพทาโร หรือจวงหอม มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เทพทาโรใช้ทำเครื่องหอม ประทินผิว ธูปหอม ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา ในชนบท เทพทาโรยังมีประโยชน์ทางยา ป้องกันตัวมอด เรือด ไร แมลงต่างๆ
เปลือก : มีน้ำมันระเหย
ใบ : มีกลิ่นหอม ใช้เป็นเครื่องเทศ
เนื้อไม้ : มีกลิ่นหอม ใช้ในการก่อสร้าง ของใช้ในเรือน [3]

การขยายพันธุ์ของเทพทาโร

เทพทาโร สามารถขยายพันธุ์ ได้โดยการ เพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ มีวิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ โดยมีวิธีดังนี้

  • คัดเลือกยอดที่มีลักษณะใบแก่พอประมาณ ที่กิ่งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน และมีตาตุ่มตามซอกใบและปลายยอดพร้อมจะแตกยอดใหม่โดยให้มีความยาวของกิ่งปักชำประมาณ 10 เซนติเมตร
  • ตัดใบออกให้เหลือใบยอด 2-3 ใบ ตัดปลายใบให้เหลือครึ่งใบ นำกิ่งมาแช่ในสารละลายฮอร์โมนเร่งราก พี-รูท ใช้อัตราความเข้มข้น 10% นาน 30 นาที
  • แล้วนำไปปักชำ ในกระบะเพาะชำ ใช้วัสดุเพาะชำ ทรายผสมขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 2:1
  • ใช้กระโจมพลาสติกครอบถาดปักชำ แล้วใช้ทรายทับขอบพลาสติก โดยรอบเพื่อไม่ให้ความชื้นระบายออก
  • ให้น้ำแบบพ่นหมอก อย่างน้อยวันละ 4 ครั้ง
  • ประมาณ 45 วัน รากจะเริ่มงอก และย้ายชำได้ ประมาณ 60–70 วัน จึงจะเปิดกระโจมพลาสติกออก
  • ย้ายกิ่งปักชำ ลงถุงเพาะชำ ขนาด 6×9 นิ้ว โดยใช้ดินผสมแกลบสด และแกลบเผา อัตราส่วน 2:1:1 บำรุงอีก 6 เดือน จะได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์ ลงแปลงปลูกได้

คลิกเพื่ออ่าน การขยายพันธุ์ของเทพทาโร เพิ่มเติมได้ที่นี่ Disthai

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ เทพทาโร เป็นสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ต้องระวังในการใช้ ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ ไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไป จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรัง และทานยาประจำ ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน

สรุป เทพทาโร พันธุ์ไม้พระราชทาน ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล จ.พังงา

เทพทาโร

สรุป เทพทาโร พันธุ์ไม้พระราชทาน ปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล จ.พังงา ถือได้ว่าเป็นไม้หอม ที่มีคุณค่า คุณประโยชน์มากมาย ที่หายากเพราะลักษณะทางนิเวศน์นั้น ต้นไม้ชนิดนี้ขึ้น บนเขาในป่าดงดิบทั่วไป แต่พบมากในภาคใต้ และยังเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ นำมาแปรรูปได้หลายอย่าง

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of OTP
OTP

แหล่งอ้างอิง

450