ต้นชัยพฤกษ์ ถือเป็นไม้มงคล ที่เป็นสัญลักษณ์แห่ง ชัยชนะ และอิสรภาพ ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในเชิงสัญลักษณ์ ในหลายๆ ที่ของไทย ช่อชัยพฤกษ์นั้น จะถูกนำไปประดับ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล เช่น นำไปประดับบนอินทรธนูข้าราชการ สำหรับทหาร และตำรวจทั้งหลาย
ชื่อ: ชัยพฤกษ์
ชื่อสามัญ: Javanese Cassia, Rainbow Shower, Pink and white shower, Common pink cassia
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cassia javanica L.
ชื่อท้องถิ่นอื่น: ขี้เหล็กยะวา, เหล็กยะวา เป็นต้น
วงศ์: FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE (วงศ์ถั่ว)
วงศ์ย่อย: CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE (ราชพฤกษ์)
ถิ่นกำเนิด: ในอินโดนีเซียและประเทศในแถบเอเชียตะวันออก
ดอกชัยพฤกษ์: เป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ชัยนาท
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย: กรุงเทพ
ต้นไม้ประจำโรงเรียน: สวนกุหลาบวิทยาลัย (รังสิต), โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
ที่มา: ชัยพฤกษ์ [1]
ต้นชัยพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดใหญ่มีความสูง 15 – 25 เมตร
ลักษณะ เป็นทรงพุ่ม รูปร่มแผ่กว้างสูง 6 – 8 เมตร เปลือกต้น สีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ ต้นเล็กจะมีหนาม ต้นใหญ่จะมีรอยแผลปนหนามตามแนวขวาง
ใบ เป็นใบประกอบ แบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับแกนกลาง ใบประกอบจะยาว 15 – 30 ซม. มีใบย่อยประมาณ 7 – 12 คู่ เรียงตรงข้ามกันเป็นรูปขอบขนาน หรือรูปไข่แกมรูปรี ซึ่งมีความกว้าง 1.5 – 2 ซม. และมีความยาว 3.5 – 5 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบกลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบจะบาง แต่ค่อนข้างเหนียว ใบสีเขียวสด เกลี้ยง ผิวของใบด้านล่าง จะมีสีที่อ่อนกว่าด้านบน มีขนละเอียด โดยก้านใบนั้นมีความยาว 1.5 – 4 ซม. แต่ก้านใบย่อย จะสั้นมาก
ดอก ออกดอกสีชมพูเป็นช่อแบบ ช่อเชิงลด ในส่วนของก้านช่อดอกนั้น จะมีความใหญ่ และแข็ง ไม่แตกแขนง เมื่อออกดอกแล้วจะไม่ทิ้งใบ ดอกย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปดอกหางนกยูงจำนวนมาก เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีชมพู จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม และเมื่อใกล้โรยจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ออกดอกในฤดูแล้งประมาณเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม
ผล ออกผลเป็นฝัก จะเป็นผลแห้งทรงกระบอก ผิวเรียบเกลี้ยง ไม่มีขน ซึ่งฝักเกลี้ยงของชัยพฤกษ์นั้น สามารถนำไปใช้ทำยาได้ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฝักอ่อนจะมีสีน้ำตาล และเมื่อสุกจะกลายเป็นสีดำ
เมล็ด นั้นจะมีลักษณะกลมแบนสีน้ำตาลเป็นมัน โดยมีเมล็ดจำนวน 40-50 เมล็ดต่อฝัก และจะติดผลประมาณเดือนเมษายน – กรกฎาคม
พบได้ตาม ป่าทุ่ง ป่าโปร่ง และปลูกเลี้ยงทั่วไป เป็นพืชที่ชอบดินทราย และแสงแดดจัด
ที่มา: ส่วนประกอบของต้นชัยพฤกษ์ [2]
ขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด
ต้นชัยพฤกษ์ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 9 ต้นไม้มงคลของไทย ด้วยชื่อที่เป็นมงคล สื่อความหมายถึง ชัยชนะ และการนำมาซึ่งเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ หากปลูกต้นชัยพฤกษ์ไว้ในบ้าน จะช่วยให้สามารถ เอาชนะอุปสรรคในชีวิต และเสริมบารมีให้แก่เจ้าของบ้านได้ และยังเป็นต้นไม้ประจำชาติไทยอีกด้วย
ตำแหน่งที่เหมาะกับการปลูก ควรปลูกไว้ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของตัวบ้าน เช่นเดียวกันกับ ต้นราชพฤกษ์ และควรปลูกในวันเสาร์ เพื่อความเป็นสิริมงคล
หมายเหตุ สรรพคุณของยาไทยโบราณกล่าวว่า ส่วนอื่น ๆ เสมอด้วยสรรพคุณของต้นราชพฤกษ์ (ต้นคูน)
นอกจากความเชื่อแล้ว ยังช่วยฟอกอากาศในบริเวณที่ปลูก, ช่วยลดมลพิษทางอากาศ, ช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ [3]
สรุป ต้นชัยพฤกษ์ ต้นไม้มงคลควรปลูกตามทิศ ที่คนไทยสมัยก่อนมีความเชื่อว่า จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ก็คือทิศตะวันตกเฉียงใต้ และควรปลูกในวันเสาร์ จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคล ให้แก่เจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี โดยมีต้นกล้าจำหน่าย ราคาต่อต้นประมาณ 30 – 50 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของลำต้น และต้นชัยพฤกษ์ที่มีความสูงประมาณ 3 – 5 เมตร มีราคาประมาณ 1500-2000 บาท