ต้นประดู่ เป็นพันธุ์ไม้ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน หลายๆ คนคงเคยเห็น และรู้จักกันดี เพราะต้นไม้ชนิดนี้มักจะปลูกกันทั่วไป ในทุกพื้นที่ พบเห็นได้ตามสถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะ เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ต้นไม้มงคลที่ควรรู้จัก
ชื่อ : ประดู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
ชื่อสามัญ : Burma Padauk
ชื่อภาษาอังกฤษอื่น ๆ : Angsana Norra, Malay Padauk, Andaman Redwood, Burmese Rosewood, Indian rosewood
ชื่อไทยและท้องถิ่น : ประดู่, สะโน (มาเลย์-นราธิวาส), ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา (ภาคกลาง), ดู่บ้าน (ภาคเหนือ) เป็นต้น
วงศ์ : Leguminosae (วงศ์ถั่ว)
ถิ่นกำเนิด : จากประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบอันดามัน เบงกอล
ต้นไม้มงคล : ประจำกองทัพไทย
ดอกไม้ประจำจังหวัด : ชลบุรี, จังหวัดระยอง, จังหวัดอุตรดิตถ์
ต้นไม้ประจำจังหวัด : ภูเก็ต
ที่มา : รู้จักกับต้นประดู่ [1]
ลำต้น : ประดู่ เป็นไม้ยืนต้นสูงตั้งแต่ 10 – 25 เมตรโดยประมาณ เขาจะแตกกิ่งก้านสาขา ออกเป็นทรงพุ่มค่อนข้างกว้าง ปลายกิ่งห้อยลง เปลือกต้นหนาและหยาบ แตกออกเป็นร่อง มีสีน้ำตาลอมเทา
ใบ : ต้นประดู่เป็นไม้ผลัดใบ ใบจะเป็นแบบใบประกอบขนนก ออกใบเป็นช่อ และในแต่ละช่อจะมีทั้งสิ้น 7 – 13 ใบ ลักษณะใบรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนา มีสีเขียว
ดอก : ดอกประดู่มีสีเหลือง ส่งกลิ่นหอม และผลิบานในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม มักออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกย่อยจะมีลักษณะ คล้ายคลึงกับดอกถั่ว ลักษณะโคนกลีบเลี้ยง เป็นกรวยโค้ง มี 5 กลีบดอก ดอกที่ใกล้โรยราจะมีสีเหลืองอมน้ำตาล ส่งกลิ่นหอมไกล
ผล : มีขนเล็กๆปกคลุม ขนาดผลโตประมาณ 4-6 เซนติเมตร
ขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด สามารถไปเก็บเมล็ดใต้ต้นแม่ ที่เติบโตอย่างแข็งแรง มาเพาะได้เลย แต่ข้อควรระวังในการเก็บเมล็ดใต้ต้นก็คือ ต้องเก็บจากต้นที่ออกผลอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และควรเลือกต้นพันธุ์ ที่ไร้โรค ต้นตรงสวย ทรงพุ่มสวย หลังจากนั้นก็นำมาเพาะ เหมือนเช่นเดียวกันกับ ไม้ยืนต้นอื่นๆ ได้เลย
การปลูก: เมื่อต้นกล้าเขาแข็งแรงแล้ว แนะนำให้ปลูกเขาไว้บนดินที่ร่วนซุย หรือจะเป็นดินทรายผสมดินร่วนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ดินเหนียว ควรปลูกไว้กลางแจ้ง เพราะต้นประดู่ต้องการ ได้รับแสงแดดจัด ตลอดทั้งวัน
รดน้ำปานกลาง ประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปุ๋ยเน้นปุ๋ยคอกปีละ 2 – 3 ครั้ง เพียงเท่านี้ต้นประดู่ก็จะเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว
ประดู่ หมายถึง ความพร้อมเพรียง ความร่วมมือ และความสามัคคี หากใครปลูกแล้ว จะช่วยให้คนในบ้านรักใคร่กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเป็น “ต้นไม้มงคลปลูกตามทิศ” ตามความเชื่อจะยิ่งดีมากขึ้น [2]
ตำแหน่งที่เหมาะกับการปลูก : ทิศตะวันตก เช่นเดียวกันกับ ต้นมะขาม ที่ควรปลูกไว้ทิศเดียวกันนี้ โดยควรปลูกหน้าบ้าน เพื่อให้ร่มเงา และความร่มเย็น และให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
ที่มา: สรรพคุณของประดู่ [3]
ในด้านเชิงอนุรักษ์ ต้นประดู่เป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลม และคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ และยังช่วยรองรับน้ำฝน ช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ประกอบกับมีระบบรากหยั่งลึก และแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย และรากที่มีปมขนาดใหญ่ ยังช่วยตรึงไนโตรเจน ในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจน ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย
ในด้านข้อความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้ เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน และผู้อยู่อาศัย
สรุป ต้นประดู่ เป็นอีกหนึ่งพันธุ์ต้นไม้มงคล ปลูกตามทิศยิ่งเพิ่มความเป็นสิริมงคล เป็นต้นไม้ใหญ่ ให้ร่มเงาได้ดี การปลูก การดูแลก็ง่ายมาก อีกทั้งยังช่วยในเรื่องความเชื่อด้านจิตใจ ตามคุณสมบัติของไม้มงคล ที่ควรมีปลูกไว้ในบริเวณบ้าน เพื่อเสริมสร้างบารมี ความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียว และยังเป็นไม้มงคลในทางพระพุทธศาสนาอีกด้วย