เอื้องเขาพระวิหาร หรือ เอื้องระฟ้า เป็นกล้วยไม้สายพันธุ์หนึ่งในสกุล Vandopsis ซึ่งอยู่ในวงศ์ กล้วยไม้ ( Orchidaceae ) มีลักษณะพิเศษ ที่ด้านหลังเป็นสีเหลืองสดและสีชมพูอมส้ม ชอบขึ้นอยู่ตามหินหน้าผา ซอกหิน หรือท่อนซุง รูปแบบการเจริญเติบโตแบบโมโนโพเดียล (monopodial)
เอื้องเขาพระวิหาร จัดว่าเป็นกล้วยไม้ พันธุ์แท้ในสกุล Vandopsis ต้นไม้หายาก พันธุ์ไทย เป็นกล้วยไม้เฉพาะถิ่น และเป็นพืชเด่น ของอุทยานแห่งชาติ เขาพระวิหาร จ. ศรีสะเกษ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ที่ขาดแคลน ทั้งธาตุอาหาร และน้ำ จัดว่าเป็น “ต้นไม้หายาก พันธุ์ไทย” อีกชนิดหนึ่งที่นักสะสมต้นไม้ต้องการ [1]
ชื่อ: เอื้องเขาพระวิหาร
ชื่อวิทยาศาสตร์: Vandopsis lisspchiloides
วงศ์: Orchidaceae
สกุล: Vandopsis
ถิ่นอาศัย: ที่ราบลุ่มของประเทศฟิลิปปินส์ ไทย ลาวและเกาะนิวกินี
สภาพนิเวศน์: กล้วยไม้ขึ้นบนหิน ไทยมักพบขึ้นบนหินทราย มักขึ้นอยู่บนที่ราบ สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 200 – 500 เมตร
ที่มา: เขาพระวิหาร (กล้วยไม้) [2]
ลำต้น: ที่แข็งแรง สามารถสูงได้ถึง 2 เมตรหรือ 80 นิ้ว ขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 -2 นิ้ว
ใบ: แข็ง และเหนียว และยาวได้ถึง 1 ฟุต (30 ซม.) รูปตัววีแคบ สีเขียวอ่อนถ้าอยู่ที่กลางที่โล่งแจ้งจะมีสีเขียวอมเหลือง ใบจะเรียงสลับตรงข้าม ตามแนวตั้ง ระนาบเดียวกัน
ดอก: ช่อดอกแบบกระจะ (raceme) คือ ช่อที่มีดอกย่อย มีก้านดอก แยกจากแกนกลาง ก้านดอกย่อยแต่ละดอก จะมีความยาว ใกล้เคียงกัน ออก ที่ข้างลำต้น ตั้งตรง ช่อดอกยาวได้ถึง 2 เมตร หนึ่งต้นให้มีช่อดอกได้ 4 – 5 ช่อต่อปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ด้านหลังเป็นสีเหลืองสด และสีชมพูอมส้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 ซม. และอยู่ได้นานหลายเดือน
ลักษณะการเจริญเติบโต ทางนิเวศน์ นั้นพบเจริญเติบโตตามก้อนหิน บนรอยแยกลานหิน ที่มีซากอินทรีย์วัตถุทับถม มีความทนทาน ต่อสภาพแวดล้อม ที่ขาดแคลน ทั้งธาตุอาหาร และน้ำ โดยจะมีลำต้นและรากที่ใหญ่สะสมอาหารไว้เพื่อความอยู่รอด
ลักษณะการเจริญเติบโต แบบโมโนโพเดียล (monopodial) โดยจะเจริญเติบโตที่ปลายยอดไปได้เรื่อย ๆ มีการแตกตาที่โคนต้นบ้าง แต่ ไม่แตกกอลำต้นเป็นแบบลำเดียว
กล้วยไม้เอื้องเขาพระวิหาร เป็นกล้วยไม้ป่าหายาก เนื่องจากการขยายพันธุ์ ของกล้วยไม้ชนิดนี้ เกิดขึ้นได้ยาก ในสภาพธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการ ของนักสะสมกล้วยไม้ จึงเกิดการลักลอบนำออกจากป่า การค้าและมีการบุกรุกป่า เพื่อทำไร่ ทำให้กล้วยไม้นี้ ลดจำนวนลง จึงจำเป็นที่จะต้อง ทำการอนุรักษ์ ก่อนเกิดการสูญพันธุ์ [3]
สรุป กล้วยไม้ป่าชนิดนี้ จัดว่าเป็นต้นไม้หายาก พันธุ์ไทยอีกชนิดหนึ่ง ที่นักสะสมกล้วยไม้ นิยมหามาไว้ในครอบครองกัน ความสวยที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันโดดเด่น สะดุดตา และกลิ่นหอมอ่อนๆ ทำให้ผู้พบเห็นประทับใจ