กัญชง (Hemp) ไม่ใช่ กัญชา

กัญชง

กัญชง (Hemp) ไม่ใช่กัญชา อย่าเข้าใจผิด แค่มีลักษณะคล้ายคลึง กับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เท่านั้น ไม่ได้ออกฤทธิ์เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา ต้นกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูป ทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอ และมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร เรามาทำความรู้จักกับต้นกัญชงกัน

ข้อมูลแนะนำ กัญชง

ชื่อ: กัญชง
ชื่อภาษาอังกฤษ: Hemp (เฮมพ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Cannabis sativa L. subsp. Sativa
วงศ์: Cannabaceae (วงศ์กัญชา)
สกุล: Cannabis
แหล่งกำเนิด: ในเอเชียกลาง และแพร่กระจายไปสู่เอเชียตะวันออก อินเดีย และในทวีปยุโรป

กัญชง เป็นไม้ล้มลุก มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คล้ายกัญชา แตกต่างกัน ทั้งทางกายภาพและ ตัวปริมาณสารสำคัญ เรามาเรียนรู้วิธีสังเกตเบื้องต้นที่จะแยกแยะ กัญชง-กัญชา ต่างกันอย่างไร และ กัญชงมีสรรพคุณอย่างไร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต้นกัญชง

กัญชง

ต้นกัญชง: จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุเพียงปีเดียว มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า
ลำต้น: เป็นสีเขียวตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1-6 เมตร และจะเริ่มมีการสร้างเนื้อไม้ เมื่ออายุได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 3 เมตร
ราก: เป็นระบบรากแก้ว และมีรากแขนง เป็นจำนวนมาก
ใบกัญชง: ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปฝ่ามือ แผ่นใบแก่แยกเป็นแฉกประมาณ 7-9 แฉก การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยและเว้าลึกจนถึงโคนใบ
ดอกกัญชง: ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 มม. ดอกเป็นแบบแยกเพศและอยู่ต่างต้นกัน โดยช่อดอกเพศผู้จะเป็นแบบ panicle ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ มีสีเขียวอมเหลือง มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเพศเมียจะเกิดตามซอกใบ และปลายยอด ในบริเวณช่อดอกจะอัดกันแน่น
ผลกัญชง: ผลเป็นเมล็ดแห้งสีเทา ลักษณะเป็นรูปไข่ ผิวเรียบเป็นมันและมีลายประสีน้ำตาล เมื่อแห้งจะเป็นสีเทา มีขนาดกว้างเฉลี่ยประมาณ 4.47 มม. ยาวประมาณ 5.11 มม. และมีความหนาเฉลี่ยประมาณ 3.75 มม.

ที่มา: ลักษณะของกัญชง [1]

เปรียบเทียบ กัญชง กับ กัญชา

กัญชง (hemp)
-ใบ: ใบจะเรียงตัวค่อนข้างห่าง มี 7-9 แฉก มีสีเขียวอมเหลือง
-ลำต้น: สูงมากกว่า 2 เมตร
-สาร (THC): มีสาร (THC) น้อยกว่า 0.3% เมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดศีรษะ
-ประโยชน์: ปลูกเพื่อใช้เส้นใยในการทำเสื้อผ้า กระดาษ เครื่องทอต่าง ๆ

กัญชา (cannabis)
-ใบ: ใบจะเรียงตัวชิดกัน มี 5-7 แฉก มีสีเขียวจัด
-ลำต้น: ลำต้นสูงไม่เกิน 2 เมตร
-สาร (THC): มีสาร (THC) ประมาณ 1-10% เมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง มีอาการเคลิบเคลิ้ม
-ประโยชน์: ปัจจุบันในประเทศไทย กัญชา ถูกกฎหมาย แต่ถือว่าเป็นสมุนไพรควบคุม ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ ในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือกำหนดการดำเนินงานบังคับใช้กฎหมายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

ที่มา: กัญชง กับ กัญชา เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร [2]

สรรพคุณของ กัญชง

  • ใบกัญชง
    -มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต
    -ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด
    -ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์
    -ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน
    -ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย จัดเป็น “พืชสมุนไพรช่วยนอนหลับ” เช่นเดียวกันกับ อินทนิล เป็นต้น
  • เมล็ด
    -ภูมิปัญญาของชาวม้งจะใช้เมล็ดสดเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสด
    -มีอาร์จินีน และกรดแกมมาไลโนเลนิก ซึ่งช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ชะลอการเกิดวัยทอง และลดอาการก่อนมีประจำเดือน
  • รากกัญชง
    -มีฤทธิ์แก้ปวด ช่วยต้านการอักเสบเฉพาะที่
    -ช่วยบรรเทาการเกิดแผลพุพอง ริดสีดวงทวาร และโรคเรื้อน
    -ใช้ในการรักษาโรคเกาต์ ปัญหาในระบบทางเดินอาหาร และโรคไขข้อ
    -รากกัญชงมีสารอินทรีย์ที่เรียกว่า ไกลโคไซด์ ซึ่งช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

การนำ ต้นกัญชง ไปใช้ประโยชน์

กัญชง

มีการนำประโยชน์จากกัญชง มาใช้ในด้านต่าง ๆ มากกว่า 50,000 รายการ ตั้งแต่การผลิตกระดาษ ไปจนถึงการผลิตยา

  • เปลือกลำต้น นำมาผลิตเป็นเส้นใย ยาวคุณภาพสูง ทำเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชิ้นส่วนยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงนำไปเผา เพื่อผลิตคาร์บอน นำไปผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol
  • ใบ ทำเป็นชา เพื่อสุขภาพ เป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร เช่น ขนมปัง คุกกี้ หรือบดเป็นผง เพื่อผสมกับสารอาหารอื่น ๆ สำหรับทำอาหารเสริม
  • ช่อดอก มีสาร CBD ที่เข้ากันกับสารในสมอง ของมนุษย์ที่เรียกว่า Cannabidol Receptor ทำให้เหมาะกับการทำเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อรักษาโรค และบรรเทาความเหนื่อยล้า เช่น สเปรย์อโรมา น้ำมันนวด น้ำมันหอมระเหย ชา คุกกี้ เค้ก บราวนี่ เป็นต้น
  • เมล็ด สกัดเอาโปรตีน (Peptide) มาใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ เช่น เนย ชีส โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารว่าง เต้าหู้ อาหารเสริม และสามารถมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้ทดแทนและมีความยั่งยืนกว่าเชื้อเพลิงอื่น ๆ

ที่มา: การนำไปใช้ประโยชน์ [3]

การปลูก ต้นกัญชง

กัญชง เติบโตได้ดีในพื้นที่อุณหภูมิปานกลาง มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับกลางถึงสูง และต้องการแสงแดดอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้สายพันธุ์ แลนด์เรซ ในไทยโด่งดังไปทั่วโลก

วิธีปลูก: สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยปลูกได้ทั้งในแปลงเพาะ หรือ ในกระถาง โดยกัญชงเป็นพืชที่ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรใช้ดินร่วน ในการเพาะปลูก
การดูแลรักษา: ให้หมั่นรดน้ำวันละ 1 ครั้ง หรือ วันเว้นวันก็ได้แล้วแต่ความสะดวก กรณีปลูกในแปลงเพาะ เพื่อป้องกันน้ำขัง ให้ทำการยกร่องดินขึ้นมา จะทำให้ดินระบายน้ำได้ดีขึ้น

สรุป กัญชง พืชสมุนไพรประโยชน์หลากหลาย

สรุป กัญชง เป็นพืชที่คนนิยมนำมาใช้ ผลิตกระดาษ เส้นใย เสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มกันมาอย่างยาวนาน อาจจะเรียกได้ว่ายาวนานเป็นพันๆ ปีก็ได้ ประโยชน์ที่หลากหลายทำให้พืชชนิดนี้ได้รับความสนใจ และเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทน้ำมันกัญชงที่ใช้ในเชิงสุขภาพ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชง

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน
Picture of OTP
OTP

แหล่งอ้างอิง

118