นกหงส์หยก นกเล็กเสียงใส

นกหงส์หยก

นกหงส์หยก เป็นนกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันในหลายๆ ประเทศ เพราะเป็นนกที่จะอยู่ในประเภทนกสวยงาม ด้วยสีสันที่สดใสสวยงามแล้วนั้น นกชนิดนี้ยังเป็นนกที่ขี้เล่น ฉลาด สามารถฝึกให้พูดได้ เป็นนกเจ้าสำอาง ชอบส่องกระจกอยู่เป็นประจำ เลี้ยงไว้ให้เป็นเพื่อนในบ้านได้ดีเลยทีเดียว

นกหงส์หยกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนเลี้ยง

นกหงส์หยก เป็นนกที่ค่อนข้างชอบเข้าสังคม หากจะเลี้ยงนกชนิดนี้ แนะนำให้เลี้ยงเป็นคู่ หรือเลี้ยงมากกว่าสองตัวขึ้นไป เป็นนกที่ค่อนข้างขี้เหงาหากเลี้ยงตัวเดียวอาจจะทำให้นกเครียดได้ นกชนิดนี้เป็นนกที่ค่อนข้างที่จะรักสวยรักงาม เจ้าของอาจจะหาเครื่องประดับเล็กๆ เอามาไว้ให้นกได้แต่ตัวรับรองว่าจะต้องชอบมากแน่ๆ

กรง ควรเอาไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ลมและแสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงได้ ไม่ควรเอาไว้ที่โดนแดดเยอะเกินไป เพราะนกชนิดนี้ไม่ชอบอากาศร้อน และกรงควรมีขนาดที่สามารถให้บินเล่นในระยะสั้นๆได้ เพราะจะทำให้นกได้บินเล่นและไม่เครียดจนเกินไป

อาหาร ให้อาหารประเภทธัญพืชต่างๆ ควรให้ธัญพืชที่หลากหลายชนิด และควรให้ผักผลไม้เสริมด้วย เช่น ผักคะน้า ผักกาด แครอท ถั่วลันเตา ผลไม้ก็เช่น แอปเปิล มะละกอสุก มะม่วงสุก เป็นต้น น้ำควรที่จะหมั่นเปลี่ยนให้ทุกวัน เพราะลดการสะสมของเชื้อโรค ที่สามารถทำให้นกป่วยได้

ถิ่นที่อยู่อาศัย

นกหงส์หยกมีถิ่นกำเนิดมาจาก ประเทศออสเตรเลีย พบได้ในแถบทุ่งหญ้าของออสเตรเลีย ชื่อ ภาษาอังกฤษ Budgerigar แต่ในปัจจุบันมีการเรียกให้สั้นลงว่า บั๊ดจี้ส์ (Budgies) บุคคลแรกที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับนกชนิดนี้ เป็นนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อว่า กูลด์ (Gould) เมื่อก่อนได้เข้าใจผิดว่านกชนิดนี้เป็นนกจำพวก นกเลิฟเบิร์ด แต่ภายหลังได้มีการออกมาแจ้งแล้วว่า เป็นนกคนละจำพวกกัน

การจำแนกทางวิทยาศาสตร์

  • อาณาจักร : Animalia
  • ไฟลัม : Chordata
  • ชั้น : Aves
  • อันดับ : Psittaciformes
  • วงศ์ : Psittacidae
  • วงศ์ย่อย : Psittacinae
  • เผ่า : Melopsittacini
  • สกุล : Melopsittacus Gould, 1840
  • สปีชีส์ : M. undulatus

ชื่อทวินาม

  • Melopsittacus undulatus

ที่มา: “นกหงส์หยก” [1]

ลักษณะเด่นที่เห็นได้ชัด

นกหงส์หยก

นกหงส์หยกเป็นนกที่มีขนาดเล็ก ความยาวของตัวจะยาวประมาณ 18 เซนติเมตร หนักประมาณ 30-40 กรัม ปีกจะมีลายสีดำ ช่วงลำตัวจะเป็นสีเขียวอ่อน นกที่ตัวโตเต็มวัย จะมีหน้าและหน้าผากสีเหลือง ปากเป็นสีเทามะกอก ขาเป็นสีเทาอมฟ้า โดยสีพื้นฐานของนกชนิดนี้ โดยรวมแล้วแต่ละตัวจะมีสี สีเขียว(Green) สีฟ้า(Blue) สีเหลือง(Yellow) และขาว สีที่กล่าวมาแต่ละสีมีชื่อเรียกแยกออกไป โดยแยกเป็นน้ำหนักสีคือ อ่อน , กลาง และ แก่

และมีอีก 3 สายพันธุ์ ที่สีจะไม่เหมือน สายพันธุ์ชนิดอื่นๆ นั่นก็คือ

  1. โอแพล์ลิน (Opaline) บนคอ ใต้คอ ปีก จะมีสีเดียวกันกับสีของลำตัว โดยไม่ระบุว่าต้องเป็นสีใด
  2. เผือก อัลบิโนส์ (Albinos) จะมีสีขาวไปทั่วทั้งตัว มีสีค่อนไปทางสีฟ้า
  3. ลูติโนส์ (Lutinos) ทั้งตัวจะมีสีเหลือง ค่อนไปทางเขียว และมีนัยน์ตาสีแดง

ที่มา : “Budgerigar” [2]

นกหงส์หยกเจ้านกขี้เหงา

นกหงส์หยก บางเว็บไซต์ในต่างประเทศได้ออกมาบอกว่า นกหงหยกไม่ได้ชอบส่องกระจก แต่มันไม่ชอบการอยู่แบบโดดเดี่ยว เพราะธรรมชาติของนกชนิดนี้จะชอบอยู่ด้วยกันเป็นฝูง การเอากระจกไปไว้ในกรง ก็สามารถทำให้นกหงหยกคิดว่าอยู่หลายตัว เพราะฉะนั้น เจ้าของหากเลี้ยงไว้แค่ตัวเดียว ควรเอาใจใส่เล่นกับมัน ดีกว่าให้มันเล่นกับกระจกอยู่ตัวเดียว

การแยกเพศนกหงส์หยก

  • เพศผู้ ให้สังเกตลักษณะตรงจมูก เพศผู้จะมีจมูกสีฟ้า แต่ถ้านกยังเด็กเกินสังเกตให้ลองดูที่ตะเกียบนก จับนกให้หงายท้องขึ้น เอานิ้วมือเราวางไปที่ตรงกลางระหว่างโคนขานก กดลงเบาๆ ถ้าเป็นตัวผู้ ตะเกียบแคบชิด
  • เพศเมีย ให้สังเกตลักษณะตรงจมูกเช่นเดียวกับตัวผู้ แต่เพศเมียจะมีจมูกสีน้ำตาลอ่อน อีกเช่นเดียวกันถ้านกยังเด็ก ให้ทำเหมือนกันกับที่บอกไปข้างต้น เพศเมียจะมีตะเกียบที่กว้าง กางออกมา

วิธีฝึกอย่างไรให้พูดได้

แน่นอนว่าถ้าเราเลี้ยงนกที่มีความสามารถในการพูดแล้ว เราก็ต้องอยากที่จะฝึกให้นกของเรานั้นสามารถพูด และสื่อสารกับเราได้ โดยมีวิธีการดังนี้

  1. สร้างความคุ้นชิน ระหว่างเจ้าของกับนก ทำให้นกมีความไว้ใจในตัวเราก่อน จะทำให้การฝึกเป็นไปได้ง่ายขึ้น
  2. เลือกเวลาที่เหมาะสมในการฝึก เช่น ช่วงเช้าที่นกสงบ และพร้อมที่จะจดจ่อ
  3. เริ่มจากการฝึกพูดคำสั้นๆ พูดกับนกซ้ำไปซ้ำมา ช้าๆ ชัดๆ เช่น พ่อ แม่
  4. เริ่มเพิ่มคำให้ยาวขึ้นทีละนิด เช่น พ่อจ๋า แม่จ๋า มาแล้ว หิวข้าว และควรให้รางวัลหากพูดได้
  5. อย่าฝึกนานเกินไปในแต่ละครั้ง และอย่าทำให้นกเสียสมาธิระหว่างการฝึก

ที่มา : “วิธีการ สอนนกแก้วให้พูด” [3]

สรุปนกหงส์หยก

สรุป นกหงส์หยกเป็นนกที่นิยมเลี้ยง เพราะเป็นนกที่เลี้ยงง่าย และเป็นนกที่ฉลาดมีความอยากรู้อยากเห็น หากเจ้าของใส่ใจนกจนทำให้สนิทกัน ก็จะสามารถฝึกให้พูดได้ การเลี้ยงนกที่คอยพูดเจื้อยแจ้ว รับรองมีไว้จะไม่เหงาเลย

Facebook
Twitter
Telegram
LinkedIn
ข้อมูลผู้เขียน

แหล่งอ้างอิง

105